คำว่า “เปลี่ยนงาน” เข้าใจได้ 2 ความหมาย คือ เปลี่ยนที่ทำงาน และเปลี่ยนลักษณะงาน แต่โดยมากเมื่อพูดว่า “เปลี่ยนงานใหม่แล้วนะ” มักหมายความว่า เปลี่ยนที่ทำงานใหม่นั่นเอง
คนที่ทำงานที่เดียวตลอด เมื่อเห็นคนอื่นเปลี่ยนงาน ก็เกิดตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมื่อไหร่ตัวเราจึงควรเปลี่ยนงานบ้าง
โดยปกติแล้วช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเปลี่ยนงานคือ 2-3 ปี บางคนบอกว่า ถ้านานกว่านี้จะรู้สึกเบื่องาน เมื่อทำงานอย่างไม่มีความสุข ผลงานก็จะออกมาไม่ดี ถ้าเร็วกว่านี้ก็ยังมีประสบการณ์ไม่มากพอที่จะนำไปใช้ต่อยอดในการทำงานที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้นได้
แต่จากสถิติการลาออกพบว่า 50% เป็นพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษาและเพิ่งทำงานในปีแรก เนื่องจากเด็กจบใหม่มักมองโลกสวยงามเกินกว่าความเป็นจริง เมื่อเจอปัญหาในการทำงาน ก็คิดว่าที่ทำงานนี้ไม่ดี เปลี่ยนไปทำที่ใหม่น่าจะดีกว่า
และเมื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่แล้ว หลายคนก็มักจะบ่นว่าไม่น่าลาออกเลย อยู่ที่ใหม่ก็เจอปัญหาเหมือนกัน บางอย่างอาจแย่กว่าด้วยซ้ำ แต่ก็ออกมาแล้วจะกลับไปที่เก่าก็ลำบากใจ
คนที่เปลี่ยนงานบ่อยอาจถูกมองได้แตกต่างกัน 3 มุมมองดังนี้
- ขาดความอดทน คนที่ไม่มีความอดทน มักจะทำงานได้ไม่นานก็ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ เพราะอยากทำแต่งานสบายๆ จึงพยายามหาที่ทำงานที่ตรงกับความต้องการของตนไปเรื่อยๆ
- มีความสามารถ คนเก่งใครๆ ก็ต้องการ ไปที่ไหนก็ได้งาน จนต้องปวดหัวเพราะเลือกไม่ถูกว่าจะไปที่ไหนดี
- ทำงานไม่เก่ง คนที่เก่ง ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนเก่งเสมอไป การที่เปลี่ยนงานบ่อยๆ อาจเป็นเพราะเขาไม่มีความสามารถเพียงพอ จึงต้องดิ้นรนหาที่ทำงานใหม่อยู่ตลอด
- ถามตัวเองก่อนเปลี่ยนงาน
- ทนไม่ไหวแล้วจริงๆ หรือบางครั้งเกิดปัญหาเพียงนิดเดียว แต่เราคิดมากเกินไปเลยมองเป็นปัญหาใหญ่โต คนที่คิดแบบนี้เมื่อเปลี่ยนงานไป อาจรู้สึกเสียดายในภายหลังคนบางคนอดทนทำงานในที่ทำงานที่มีปัญหาเยอะ โดยไม่ยอมเปลี่ยนงานง่ายๆ เพราะเชื่อว่า ถ้าเราสู้กับมันได้ ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่มีอะไรลำบากกว่านี้อีกแล้วแต่ถ้าทนไม่ไหวจริง ๆ ก็ควรหางานใหม่ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะตัดสินใจ ลองพูดคุยกับเพื่อนๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน จะได้มีข้อมูลของบริษัทอื่นๆ เอาไว้เปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ที่สำคัญ อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ใช้เหตุและผลไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนจะดีกว่า จะได้ไม่เสียใจภายหลัง
- ย้ายงานแล้วจะมีอะไรดีขึ้นบ้าง
- เราเสียดายอะไรในที่ทำงานเดิมบ้าง
- เรารู้จักที่ทำงานใหม่ดีพอแล้วหรือ
ที่ทำงานใหม่อาจให้ผลตอบแทนที่มากกว่า แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นนั้นคุ้มค่ากับความเสี่ยงในการเปลี่ยนงานหรือไม่ เพราะอย่างน้อยก็ต้องทดลองงานอีก 3 เดือน ซึ่งอาจจะไม่ผ่านก็ได้
มาดูผลดี-ผลเสียของการเปลี่ยนงานบ่อยๆ กันบ้าง
ผลดีของการเปลี่ยนงานบ่อยคือ ได้ประสบการณ์ที่หลากหลาย
ผลเสียก็คือ ขาดความชำนาญงาน
ถ้าเปรียบเทียบคนที่เปลี่ยนงานบ่อย ๆ กับคนที่ทำงานเดียวต่อเนื่อง ความชำนาญก็จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ที่ทำงานบางแห่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ด้วยการส่งพนักงานเข้าคอร์สอบรมหลักสูตรต่างๆ เป็นประจำ นับเป็นโอกาสที่ดีที่น่าเสียดายหากที่ทำงานใหม่ไม่มีโอกาสให้ได้เรียนรู้เช่นนี้
การที่เราไม่มีข้อมูลของที่ทำงานใหม่มากพอ อาจทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ เช่น ที่ทำงานไกลกว่าเดิม ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น ทำงานในย่านธุรกิจค่าครองชีพก็สูงขึ้น เหล่านี้ต้องนำไปบวกลบคูณหารให้ดี ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ได้
หรือหากที่ทำงานอยู่ไกลจากถนนใหญ่มาก แต่ทางบริษัทบอกว่ามีรถรับส่งให้ เราก็อุ่นใจว่าบริษัทมีสวัสดิการที่ดี แต่แล้วกลับผิดคาดเพราะรถที่ใช้รับส่งพนักงานเป็นรถบรรทุก ไม่ใช่รถบัส หรือแม้แต่รถสองแถว
เมื่อแน่ใจว่ารู้จักที่ทำงานใหม่ดีแล้วก็นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับที่ทำงานเดิมเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ว่าควรจะอยู่หรือควรจะไป อย่างไหนจะดีกว่ากัน
การเปลี่ยนงานแต่ละครั้งนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในชีวิต จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน หากยังลังเลไม่มั่นใจว่าจะคุ้มกับความเสี่ยงหรือไม่ การทำงานที่เดิมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่หากมั่นใจได้ว่าที่ใหม่ดีกว่า ก็จงอย่ารอช้า รีบคว้าโอกาสนั้นทันที
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น